การแสดงผล
ขนาดตัวอักษร

พาณิชย์ มอบ sacit นำ BCG Model อัพสกิลผู้สร้างสรรค์งานศิลปหัตถกรรมไทย

          นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ เล็งเห็นถึงความสำคัญของการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันทางการค้าอย่างยั่งยืนให้กับผู้ประกอบการไทย จากทั่วทุกภูมิภาคเพื่อตอบสนองต่อแนวโน้มการค้าโลกและความต้องการของผู้บริโภคทั้งในปัจจุบันและ ในอนาคต เช่น Climate Change, Green Trade, Carbon Neutrality, Sustainability เป็นต้น โดยได้ผลักดันให้ประเทศไทยมีภาพลักษณ์ทางการค้าที่ดีในระดับสากล สร้างความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทั่วโลก โดยการนำโมเดลเศรษฐกิจ BCG เป็นแนวทางที่จะช่วยพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการทุกภาคส่วนของไทย

 

           สำหรับ BCG Model หรือ Bio – Circular – Green Economy คือ โมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว เป็นวาระแห่งชาติเมื่อต้นปี 2564 ที่รัฐบาลใช้เป็นแนวคิดในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศมุ่งส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืนใช้ประโยชน์จากจุดแข็งของประเทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรมสูงได้อย่างคุ้มค่า เกิดการเพิ่มมูลค่าให้กับวัตถุดิบต่างๆ ต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่น เกิดการสร้างงานและการพัฒนาที่ทั่วถึง มีความรับผิดชอบ คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและสังคมซึ่งจะนำไปสู่การรักษาสภาพแวดล้อมให้คงอยู่อย่างสมบูรณ์ต่อไป ช่วยลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เป็นประเด็นหลักในเวทีการค้าโลกปัจจุบัน ซึ่งเป็นนโยบายหลักที่กระทรวงพาณิชย์ให้ความสำคัญในปัจจุบันอีกด้วย

 

            รมช.พาณิชย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ได้มอบหมายให้ sacit สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) นำ BCG Model มาอัพสกิลผู้สร้างสรรค์งานศิลปหัตถกรรมไทย เพื่อให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคงานศิลปหัตถกรรมไทย และเทรนด์โลกที่เปลี่ยนไป โดยคำนึงถึง “ความต้องการของตลาดโลก” ที่กำลังนิยมในขณะนี้ คือ โก กรีน (Go Green) และสโลว์ แฟชั่น (Slow Fashion) เป็นสินค้าที่มีกระบวนการผลิตแบบใส่ใจและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และเป็นส่วนหนึ่งของแฟชั่นแบบยั่งยืน Sustainable Fashion หรือ Eco Fashion สินค้าแฟชั่นที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อนำไปสู่โลกที่มีสิ่งแวดล้อมที่ดี และสร้างความสมดุลให้กับโลกมากยิ่งขึ้น เป็นแฟชั่นที่ไม่ผ่านกระบวนการงานอุตสาหกรรม

 

              นอกจากนี้ ผู้ที่นิยม Slow Fashion ไม่ต้องวิ่งตามกระแส เลือกสรรอย่างใส่ใจ เป็นของคุณภาพดีใช้งานได้นาน คุ้มค่า ช่วยลดปริมาณขยะ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสนับสนุนการมีคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ผลิต ผู้ที่ใช้งานจะรู้สึกภาคภูมิใจและมีความสุข เพราะได้มอบโอกาสและแบ่งปันไปยังผู้ผลิตไห้ได้มีอาชีพ มีรายได้อย่างเป็นธรรม นอกจากเพื่อสร้างความยั่งยืนทางเศรษฐกิจแล้ว ยังเป็นการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภคอีกด้วย รมช.พาณิชย์ กล่าวทิ้งท้าย

 

              ด้านนายพรพล เอกอรรถพร รักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทยกล่าวเสริมว่า ได้มอบให้สำนักส่งเสริมคุณค่าหัตถศิลป์นำทีมงานลงพื้นที่ไปให้ความรู้แก่ช่างในชุมชนเพื่อพัฒนาศักยภาพและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมไทย อาทิ การลงพื้นที่ชุมชนหัตถกรรมหนองบัวแดง จ.ชัยภูมิ ไปพัฒนาเทคนิคการย้อมสีธรรมชาติ และการตีเกลียวเส้นไหม-เส้นฝ้าย เพิ่มคุณภาพงานผ้าทอด้านเทคนิคการควบเส้นไหม หรือรวมเส้นไหม เพื่อทำให้เกิดลวดลายของเส้นพุ่งสำหรับผ้าลายหางกระรอก หลังจากนั้นนำเส้นไหมไปตีเกลียวเพื่อให้เส้นไหมมีความเหนียวมากขึ้น , การให้ความรู้ การประยุกต์ลายศิลปะกับการเขียนลายเบญจรงค์ โดยใช้เทคนิคการใช้สี คู่สีที่ตัดกัน สูตรการผสมสีกับมิเดี่ยมออยล์สำหรับเขียนงานเบญจรงค์ จ.สมุทรสงคราม , การพัฒนาทักษะและการสร้างสรรค์งานรักร่วมสมัย จ. เชียงใหม่ และการพัฒนาเทคนิคการสานขมุกยาจากเตยปาหนัน จ.ตรัง ตามลำดับ