การแสดงผล
ขนาดตัวอักษร

“สินิตย์ เลิศไกร” รมช.พาณิชย์ มอบหมาย sacit เฟ้นหาสุดยอดครูศิลป์ฯ ครูช่างฯ และทายาทฯ ด้านงานหัตถศิลป์ไทย มุ่งสืบสาน สร้างสรรค์ และต่อยอดเชิงพาณิชย์

 นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) หรือ sacit มีภารกิจที่สำคัญในการสืบสาน ส่งเสริมคุณค่า ยกย่องเชิดชู รักษา พัฒนา และเผยแพร่องค์ความรู้เกี่ยวกับภูมิปัญญางานศิลปหัตถกรรมไทย พัฒนาคุณภาพและมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมไทย รวมถึงพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการศิลปหัตถกรรมไทยให้มีความรู้ความสามารถ จึงเห็นถึงความสำคัญของการส่งเสริมคุณค่าบุคคลผู้มีความรู้ ความชำนาญ มีทักษะฝีมือ ในงานศิลปหัตถกรรมไทยพื้นบ้าน อนุรักษ์ และสืบสานภูมิปัญญาดั้งเดิมที่สั่งสมสืบทอดจากบรรพบุรุษ สะท้อนถึงศาสตร์และศิลป์เชิงช่างในสาขาต่างๆ  ให้ดำรงคงอยู่โดยไม่ให้สูญหายไปตามกาลเวลา รวมทั้งส่งต่อองค์ความรู้สู่คนรุ่นหลังให้ได้เห็นคุณค่า ก่อเกิดเป็นแรงบันดาลใจในการอนุรักษ์ รักษา สืบสาน เกิดการนำภูมิปัญญาดั้งเดิมที่อยู่ในตัวบุคคลเหล่านี้ไปใช้ประโยชน์ ในการส่งต่อให้ถึงผู้ที่อยู่ในวงการงานศิลปหัตถกรรมไทย เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนา ต่อยอดด้วยความคิดสร้างสรรค์ ให้งานศิลปหัตถกรรมไทยมีความร่วมสมัย


รมช.พาณิชย์ กล่าวเสริมว่า ในปี 2565 นี้ ได้มอบหมายให้ sacit ดำเนินการค้นหาผู้ที่มีทักษะเชิงช่างด้านงานศิลปหัตถกรรมไทย เพื่อนำมาเชิดชูเป็นครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม และทายาทช่างศิลปหัตถกรรม โดยเผยแพร่เกียรติประวัติให้เป็นที่รู้จักต่อสาธารณชนในวงกว้าง นำไปสู่การสร้างการรับรู้ เรียนรู้ สร้างแรงบันดาลใจ เป็นแนวทางให้เกิดการนำองค์ความรู้จากภูมิปัญญาใช้ประโยชน์ต่อการพัฒนาต่อยอด โดยให้ความสำคัญต่อหลักเกณฑ์ในการพิจารณาให้ครอบคลุมทุกมิติ เช่น มิติด้านการอนุรักษ์ สืบสาน การรักษาภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สั่งสมสืบทอดต่อกันมาแต่ดั้งเดิมที่มีแนวโน้มการขาดแคลน หรือใกล้สูญหาย หรือเหลือผู้ทำน้อยราย , มิติด้านทักษะฝีมือ โดยสะท้อนงานที่มีเอกลักษณ์ มีความละเอียด ประณีต สวยงาม , มิติด้านเรื่องราวองค์ความรู้ ภูมิปัญญา อันเป็นองค์ประกอบอยู่ในประเภทงานนั้นๆ และสะท้อนถึงการนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาปรับปรุงพัฒนาต่อไปได้ , มิติด้านสังคมในการเป็นผู้ที่มีจิตวิญญาณต่อการเป็นผู้ให้ ถ่ายทอดภูมิปัญญาอันเป็นประโยชน์ต่อชุมชน และที่สำคัญต้องเป็นผู้ที่การประพฤติ ปฏิบัติตน เป็นตัวอย่างที่ดีเป็นที่ยอมรับนับถือของคนในชุมชน และหากเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ต้องให้ความสำคัญในมิติที่มีการผสมผสานเทคนิค รูปแบบ หรือใช้ภูมิปัญญาแบบดั้งเดิม นำมาปรับประยุกต์ สร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์เชิงร่วมสมัยและสอดรับกับตลาดเชิงพาณิชย์ได้


ในฐานะที่ผมกำกับดูแลหน่วยงาน sacit และได้เห็นพัฒนาการในด้านการส่งเสริมผู้สร้างสรรค์ งานศิลปหัตถกรรมไทย ของครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม และทายาทช่างศิลปหัตถกรรมหลายๆ ท่านมาอย่างต่อเนื่อง มีผลงานที่มีพัฒนาการก้าวหน้า ทั้งผลงานที่เป็นงานดั้งเดิม ผลงานที่เป็นงานร่วมสมัย และผลงานที่มีการพัฒนาสร้างสรรค์ที่มีความทันสมัยขึ้นไปอย่างมาก  หลายๆ ท่านมีการผลิตผลงานจนไม่ทันต่อความต้องการของผู้ที่ต้องการผลงานฝีมือของครูท่านนั้นๆ และก็พร้อมยินยอมที่จะรอเพราะต้องการผลงานด้วยฝีมือ “ครู” นั่นเอง และอีกหลายๆ ท่านมีการพัฒนาสร้างสรรค์ผลงานรูปแบบใหม่ๆ ออกสู่ตลาด สามารถสร้างรายได้คืนสู่ชาวบ้านและชุมชน ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างแน่นอน รมช.พาณิชย์ กล่าวทิ้งท้าย 


ด้านนายพรพล เอกอรรถพร รักษาการผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย กล่าวเสริมว่าที่ผ่านมา sacit ได้ดำเนินการคัดเลือกและเชิดชูเกียรติครู-ทายาท มาแล้วกว่า 413 ราย และสำหรับในปี 2565 นี้ ได้กำหนดประเภทงานศิลปหัตถกรรมดั้งเดิมในการดำเนินกิจกรรมคัดเลือกและเชิดชูเกียรติครู-ทายาท  ใน 9 สาขางานศิลปหัตถกรรม ประกอบด้วย เครื่องไม้ , เครื่องจักสาน ,เครื่องดิน ,เครื่องทอ (เครื่องผ้า), เครื่องรัก , เครื่องโลหะ , เครื่องหนัง , เครื่องกระดาษ , เครื่องหิน ซึ่งกรอบระยะเวลาในการเฟ้นหาสุดยอดครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม และทายาทช่างศิลปหัตถกรรม โดยเริ่มต้นเปิดรับสมัครช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา กำหนดคัดเลือกรอบแรกเดือนมีนาคม ตัดสินเดือนพฤษภาคม และประกาศผลผู้ผ่านการคัดเลือกเดือนมิถุนายนตามลำดับ ซึ่งผู้ที่ผ่านการคัดเลือกจะได้รับโอกาสการส่งเสริม สนับสนุน ในกิจกรรมที่จัดโดย sacit เช่น การเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ประวัติและผลงานผ่านช่องทางสื่อสารมวลชน และช่องทางสื่อออนไลน์ต่างๆ , การได้เข้าร่วมกิจกรรมทั้งในหรือต่างประเทศ เช่น การเข้าร่วมจำหน่ายผลิตภัณฑ์การสาธิตแลกเปลี่ยนองค์ความรู้การทำงานหัตถกรรม , การพัฒนาศักยภาพการสร้างสรรค์งานศิลปหัตถกรรมในด้านต่างๆ เช่น การพัฒนาตราสินค้า การขายออนไลน์ การพัฒนาด้านการตลาด เป็นต้น รวมถึงพัฒนาทักษะฝีมือ สร้างสรรค์ผลงานศิลปหัตถกรรมรูปแบบใหม่ๆ เพื่อเตรียมความพร้อมที่ก่อนเข้าสู่ตลาดเชิงพาณิชย์ต่อไป  

------------------------------------------------------------------